ประเด็นร้อน

คำพิพากษาโคตรโกงคลองด่าน ตายยกรัง?

โดย ACT โพสเมื่อ Jul 18,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -

 

คอลัมน์ กวนน้ำให้ใส : โดย สารส้ม

 

เมื่อวันก่อน ได้สรุปแล้วว่า คำพิพากษาศาลฎีกา คดีโคตรโกงโครงการ บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน (คดีหมายเลขดำ 254/2547) ที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องกลุ่มเอกชนและอดีตนักการเมืองนั้น มีสาระสำคัญอย่างไร

 

วันนี้ จะขอชี้ให้ดูว่า คำพิพากษาคดีนี้ แหลมคม และมีอานุภาพถึงขนาดที่จะทำให้ขบวนการโกงคลองด่านนั้น ถึงกับ "ตายยกรัง" ได้หรือไม่? อย่างไร?

 

1.ประเด็นทุจริตในคดีนี้ มี 2 ประเด็น ได้แก่

 

ประเด็นที่ 1 ฐานฉ้อโกงที่ดิน

 

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2539 กรมควบคุมมลพิษได้ประกาศเชิญชวนให้ผู้สนใจยื่นเอกสารแสดงคุณสมบัติเบื้องต้นเพื่อขายที่ดินให้สำหรับใช้ในโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย จังหวัดสมุทรปราการ

 

ปรากฏว่า บริษัทคลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด ผ่านการคัดเลือก

 

หลังจากนั้น บริษัทคลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับบริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, บริษัท ประยูรวิศว์การช่าง จำกัด, บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด, บริษัทกรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด, บริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด โดยสมรู้กัน และได้ร่วมกันผลักดันให้มีการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกว่า 1,900 ไร่ เป็นที่ดินที่ได้มาจากการรวบรวมและออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบ

 

ต่อมา กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ได้รับอนุมัติจัดจ้างให้เป็นผู้ดำเนินโครงการและเป็นผู้ตรวจสภาพที่ดินที่จะใช้เป็นสถานที่ตั้งโครงการ และเจรจา ต่อรองราคาที่ดินกับบริษัทคลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด แล้วนำเสนอต่อกรมควบคุมมลพิษ ว่าจะจัดหาที่ดินเพื่อนำมาใช้เป็นที่ตั้งของโครงการตามสัญญาแบบจ้างเหมาเบ็ดเสร็จ หรือสัญญาแบบเทิร์นคีย์ ซึ่งฝ่ายจำเลยได้ร่วมกัน ฉ้อโกงด้วย ร่วมกันหลอกลวงและปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้งแก่กรมควบคุมมลพิษว่าโฉนดที่ดินทั้ง 19 แปลงนั้น เป็นโฉนดที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย และมีเนื้อที่ตามที่ระบุในโฉนดโดยไม่มีเนื้อที่ซึ่งเป็นคลอง ถนนสาธารณะ หรือที่ชายตลิ่ง แต่ความจริงแล้ว ที่ดิน 5 แปลง ใน 17 แปลง ที่นำเสนอขาย มีเนื้อที่ไม่ครบตามที่ปรากฏในโฉนดเนื่องจากบางส่วนเป็นคลองและถนนสาธารณะ หรือที่ขายตลิ่งและเป็นการออกโฉนดโดยมิชอบ ทำให้กรมควบคุมมลพิษเชื่อ รับโอนที่ดินและชำระราคา เป็นเงิน 1,956 ล้านบาท แล้วจำเลยนำเงินดังกล่าวไปแบ่งกันเพื่อประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต

 

ประเด็นที่ 2 ฐานฉ้อโกงสัญญา

 

กรมควบคุมมลพิษประกาศเชิญชวนให้ผู้สนใจยื่นคุณสมบัติเบื้องต้นโครงการออกแบบรวมก่อสร้างและแบบจ้างเหมาะเบ็ดเสร็จ มีกลุ่มของบริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด บริษัท ประยูรวิศว์การช่าง จำกัด บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) บริษัทกรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด และบริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด กับบริษัท นอร์ธเวสต์ วอเตอร์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เข้าร่วมและได้รับการคัดเลือก

 

ในขั้นตอนการคัดเลือก มีการระบุว่า บริษัทนอร์ธเวสต์ฯ มีความสามารถทางเทคนิคที่แข็งแกร่ง มีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับระบบการกำจัด น้ำเสียเพียงพอที่จะทำงานโครงการนี้ เป็นผู้นำกลุ่ม และร่วมทำงานกับที่เหลือ ถือเป็นคุณสมบัติและสาระสำคัญที่จะทำให้กลุ่มของจำเลยกับบริษัทนอร์ธเวสต์ฯ ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ชนะการประมูล ก่อนจะมีการลงนามสัญญาว่าจ้างกันเมื่อวันที่ 20 ส.ค.2540

 

โดยที่ความเป็นจริง บริษัทนอร์ธเวสต์ฯ ได้บอกเลิกหนังสือมอบอำนาจ ไม่ให้บริษัทใดกระทำการแทนไปแล้ว และมิได้ยินยอมที่จะผูกพันตามสัญญากับโจทก์แต่อย่างใด เป็นเหตุให้กรมควบคุมมลพิษหลงเชื่อและเข้าทำสัญญาจ้างเหมารวมเบ็ดเสร็จเพื่อจะได้รับเงินค่าจ้าง เงินเบิกจ่ายล่วงหน้าและเงินอื่นๆ ซึ่งฝ่ายจำเลยได้หลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริง ว่าบริษัทนอร์ธเวสต์ฯ ยังร่วมทำงานอยู่ โดยเสนอใบเรียกเก็บเงินที่มีชื่อบริษัทนอร์ธเวสต์ฯ อยู่หัวกระดาษ เป็นเหตุให้กรมควบคุมมลพิษอนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าจ้างให้ รวม 57 งวด ทั้งที่ บริษัทนอร์ธเวสต์ฯ มิได้รู้เห็นยินยอมหรือมอบอำนาจให้ไปเปิดบัญชี เพื่อรับเงินแทนแต่อย่างใด และบริษัทนอร์ธเวสต์ฯ ก็ไม่เคยถอนเงิน รับเงินหรือมีผลประโยชน์เกี่ยวกับบัญชีเงินฝากดังกล่าว

 

2.ทั้ง 2 ประเด็นข้างต้น ศาลฎีกาพิพากษาชี้ขาดว่ามีการทุจริตฉ้อโกงจริง

 

ฝ่ายโจทก์มีพยานหลักฐานเชื่อมโยงให้เห็นได้ว่า กลุ่มกิจการร่วมค้า กลุ่มจำเลยที่เกี่ยวข้องกับการรวบรวมและขายที่ดินให้โจทก์ และกลุ่มบริษัทที่เข้าทำสัญญาก่อสร้างโครงการบำบัดน้ำเสียของโจทก์เป็นกลุ่มเดียวกัน

 

ร่วมกันฉ้อโกงโดยหลอกลวงขายที่ดิน ซึ่งบางส่วนเป็นที่ดินที่ออกโฉนด ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้โจทก์ และร่วมกันฉ้อโกงในการทำสัญญารับเหมาก่อสร้างกับโจทก์ โดยหลอกลวงปกปิดข้อเท็จจริงอันควรบอกให้แจ้งว่า บริษัทนอร์ธเวสต์ฯ มิได้ยินยอมที่จะผูกพันตามสัญญากับโจทก์ และบริษัทนอร์ธเวสต์ฯ ได้บอกเลิกหนังสือมอบอำนาจที่ให้ทำการและลงนาทในสัญญาแล้ว

 

น่าสนใจว่า ฝ่ายจำเลยฎีกาว่า มีเหตุสมควรลงโทษในสถานเบาหรือ รอการลงโทษ?

 

ศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดฐานฉ้อโกง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 (เดิม) กำหนดอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยทั้ง 4 ราย คนละ 3 ปี โดยมิได้ลงโทษปรับอีกสถานหนึ่งเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว

 

ส่วนที่จำเลยขอให้ศาลปรานีรอการลงโทษนั้น?

 

ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยทั้งหมด ล้วนมีการศึกษาดีมีวุฒิภาวะพอเพียงที่จะสำนึกได้ว่าการใดควรไม่ควรอย่างไรก่อนที่จะได้ลงมือกระทำการนั้น จำเลยกระทำการทุจริต มีการวางแผนแยบยลซับซ้อน ทำให้โครงการของรัฐมูลค่าเกือบ 20,000 ล้านบาท ที่มีวัตถุประสงค์แก้ไขปัญหาน้ำเสียในจังหวัดสมุทรปราการ อันเป็นมลพิษซึ่งมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนจำนวนมากเสียหาย จึงไม่มีเหตุอันควรปรานีที่จะรอการลงโทษ

 

3.นอกจากนี้ ยังมีคดีที่อัยการสูงสุดสั่งฟ้องเอกชน ในข้อหาร่วมกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542

 

อัยการสูงสุดได้พิจารณาชี้ขาดให้ฟ้องบริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้างจำกัด ผู้ต้องหาที่ 1 บริษัท ประยูรวิศว์ฯ จำกัด ผู้ต้องหาที่ 2 บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด ผู้ต้องหาที่ 3 บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด ผู้ต้องหาที่ 4 บริษัท เกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด ผู้ต้องหาที่ 5 บริษัทสมุทรปราการ ออพเปอร์เรทติ้ง จำกัด ผู้ต้องหาที่ 6 นายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล จำกัด ผู้ต้องหาที่ 7 และบริษัทเอ็มดีเอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) ผู้ต้องหาที่ 8 ฐานร่วมกันฟอกเงิน

 

เข้าใจว่า คดีอยู่ในกระบวนการยุติธรรมแล้วน่าสนใจว่า คงต้องมีการอ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีล่าสุดนี้ (ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว) นำไปยืนยันในส่วนที่อาจเกี่ยวพันกับคดีฟอกเงินต่อไปอีกอย่างไร? แล้วจะมีผลอย่างไร?

 

ยังไม่นับถึงคดีทางแพ่ง ทั้งในส่วนที่กรมควบคุมมลพิษจะต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดต่อไป

 

และในส่วนที่ ปปง.ได้เคยอายัดทรัพย์อันเกี่ยวข้องหรือได้มาจากการ กระทำความผิดมูลฐาน มูลค่าหลายพันล้านบาท โดยเฉพาะที่เป็นเงินฝากในบัญชีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท อยู่ในชื่อของบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลหลายราย บางรายเป็นผู้ต้องคำพิพากษาในคดีที่ศาลฎีกาพิพากษาไปแล้วด้วย

 

สุดท้าย การร้องขอให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินจะเป็นอย่างไร?

 

ตายยกรัง หรือไม่?

 

 

 

 

 

 

 

 
 
 
 

#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw